Lesson 7

ตุลาคม 24, 2008

outside teaching : บทเรียนนอกตำรา / โดย…โรงน้ำชา (7/10/2551)
Lesson 7 : คนป่วย กับ Tom & Jerry

     วันเสาร์ที่ 13 กันยายน 2551 ผมไปร่วมงานแต่งงานรุ่นพี่คนหนึ่ง
ที่สนิทสนมเคารพรักกันมาตั้งแต่เรียนๆ เล่นๆ เฮฮาหน้าหม้ออยู่ในรั้ว
มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
     เจ้าสาวเป็นหญิงงามแห่งอยุธยา ผมและบรรดารุ่นน้องจึงต้องเฮโล
ขับรถไปร่วมงานกันไกลถึงอำเภอวังน้อย เฮฮาปาร์ตี้ แสดงความยินดี
กินเหล้า กอดคอลากขากันไปตั้งขบวนรับตัวเจ้าสาวที่บ้านตอนเกือบตีหนึ่ง
นอนดึก ในคืนสุดท้ายก่อนสถานะโสดของเจ้าบ่าวจะสูญสลาย
     วันอาทิตย์ที่ 14 กันยายน 2551 เราแหวกคราบขี้ตาตื่นไปไชโยโห่ฮิ้ว
ร่วมพิธีแห่ขันหมากกันแต่เช้าตรู่ หลังฟาดโต๊ะจีนมื้อกลางวัน
ทั่วสรรพางค์กายผมเริ่มรู้สึกแปลกๆ กรามทั้งสองข้างเริ่มร้าวระบม
     เย็นวันอาทิตย์ที่ 14 กันยายน เราทั้งหมดเคลื่อนพลสู่โรงแรมใน
ตัวเมืองอยุธยาเพื่อร่วมงานเลี้ยงกลางคืน กรามผมปวดหนัก
อาการไข้ไม่สบายตัวเริ่มมากขึ้น
     งานเลี้ยงสนุกสนาน น้ำจัณฑ์ผสมพร้อมดื่มถูกยกมาเสิร์ฟไม่อั้น
ผมซดวิสกี้ด้วยความรู้สึกวูบวาบๆ สลับกับหนาวยะเยือกไปทั่วร่าง
     “เฮ้ยไม่รู้เป็น’ไรว่ะ แม่งปวดกรามชิบหาย เหมือนจะมีไข้ด้วยเนี่ย”
ผมลูบๆ คลำๆ กรามแถวๆ ใต้ใบหู พลางบ่นๆ กับรุ่นน้องร่วมโต๊ะ
หลังกระดกวิสกี้ไปสี่ห้าแก้ว
     “กรามอักเสบแน่ๆ พี่ เอายามั้ยผมมียาแก้อักเสบ” รุ่นน้องกับ
แฟนสาวของมันดูเป็นห่วงเป็นใย ความปลาบปลื้มซึมซาบสู่หัวใจน้อยๆ
ของผมยิ่งนัก
     “นี่มึงพกยาแก้อักเสบไปไหนมาไหนตลอดเวลาเลยเหรอวะ”
     “ก็พกเผื่อๆ ไว้แหละ มันช่วยได้นะเอาป่าว”
     “เออๆ เอาดิ บ้านมึงขายยานี่หว่า น่าจะเชื่อได้ ไหนอ่ะ”
     “อยู่ในรถ เดี๋ยวไปเอาให้พี่”
     “เฮ้ย! งั้นไม่ต้อง ไว้ค่อยกินก็ได้ ไม่เป็นไรยังไม่หนักมาก”
     ผมนั่งกินโต๊ะจีนต่อไป บริกรเสิร์ฟวิสกี้ไม่ขาดมือ ผ่านไปสักพัก
รุ่นน้องกับแฟนสาวของมันที่หายไปตั้งแต่ตอนไหนไม่รู้เดินเข้ามาใน
ห้องจัดเลี้ยง เหวี่ยงมือแหวกอากาศมาหาผม!
     “อ่ะพี่” มันยื่นแคปซูลยามาให้หนึ่งแผง
     “เฮ้ย! นี่มึงไปเอามาเลยเหรอ ไอ้เหี้ยไม่ต้องก็ได้ ลำบากเปล่าๆ”
ผมโวยวายเกรงใจมัน
     “ไม่เป็นไรพี่ กินกันไว้ก่อนเหอะเดี๋ยวเป็นหนัก”
     “เออๆ ขอบใจมากเว้ย ไอ้เหี้ย…มึงนี่น่ารักจริงๆ ต้องกินครั้งละ
กี่เม็ดเนี่ย”
     “เม็ดเดียวพี่”
     ผมแกะแคปซูลหนึ่งเม็ดออกมาจากแผงแล้วยื่นยาที่เหลือคืนไป
     “เอาไปเลยพี่ เก็บไว้กิน”
     “ไม่เป็นไรหรอก เม็ดเดียวก็พอ” ผมเตรียมตบยาแก้อักเสบเข้าปาก
     “กินยาแล้วอย่ากินเหล้านะพี่ มันไม่ควร” แฟนสาวหน้าใสของรุ่นน้องผม
ปรามเสียงเข้มเหมือนรู้ทัน ผมชะงัก
     “อ้าวเหรอ กินเหล้าไม่ได้เลยเหรอ” ผมค่อยๆ หย่อนยาลงกระเป๋าเสื้อ
ที่อยู่ภายใต้สูทสีดำ “งั้นเดี๋ยวไว้ค่อยกินละกัน” ผมบอกทั้งคู่ยิ้มๆ
     “อ้าว…ซะงั้น” แฟนสาวมันยิ้มงงๆ หรือไม่ก็คงยิ้มปลงๆ
     “ก็แหมนะ มางานแต่งงานมันก็ต้องขอฉลองกันก่อนดิ อุตส่าห์มาตั้งไกล
กินเหล้าเสร็จเดี๋ยวไว้กินละกัน”
     …
     กว่าแคปซูลยาแก้อักเสบในกระเป๋าเสื้อจะได้เคลื่อนคลานผ่านช่องปาก
แล้วถูกกระแสน้ำดื่มไหลลากกระชากลงคอต่อไปยังกระเพาะอาหาร เวลาก็
ล่วงเลยไปตีหนึ่งกว่าตอนผมกลับถึงบ้านที่กรุงเทพฯ แล้ว
     แล้วตลอดช่วงระยะเวลาสี่สัปดาห์ต่อมาหลังจากคืนวันอาทิตย์นั้น
ร่างกายและการใช้ชีวิตของผมก็ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของ “โรคคางทูม”
ขั้นสาหัส
     กรามแก้มสองข้างและคางบวมตุ่ย หน้าอ้วนตึงกลึงกลม หูหัวปวดร้าวระบม
หนาวสั่นนอนซมด้วยพิษไข้ อ้าปากไม่ค่อยได้ เจ็บเจียนตายเมื่อต้องหลั่งน้ำลาย
เคี้ยวอาหาร ตระเวนหาหมอสองโรงพยาบาล ได้นั่งรถเข็นโรงพยาบาลเป็นครั้งแรก
ในชีวิต แล้วก็ถูกแอดมิทเข้านอนโรงพยาบาลเป็นครั้งแรกในชีวิตอีกเหมือนกัน
ถูกเจาะเลือดเจาะสายให้น้ำเกลือจนแขนพรุน
     เรื่องเฮฮาปาร์ตี้พี้ดื่มจนดึกดื่นยิ่งไม่ต้องคิด จำใจต้องงดตลอดสี่อาทิตย์
     …
     เกือบ 6 โมงเช้าของวันพุธ ผมหอบสังขารคลานขึ้นแท็กซี่ไปโรงพยาบาลแรก
ด้วยอุณหภูมิร่างกายที่พยาบาลวัดได้ 40 องศาฯ หนาวสั่นหายใจเร็วระรัว
จนมือเกร็งชาหงิกงอ หมอแอดมิทผมนอนเตียงไว้ดูอาการหนึ่งวัน เย็นวันนั้น
ผมขอออกจากโรงพยาบาลหากหมออนุญาตเพราะวันรุ่งขึ้นมีงานสำคัญที่ต้อง
ไปสรุปรออยู่
     “อ้าว! เป็นอะไรคะเนี่ย”หนึ่งในลูกค้าที่มาสรุปงานในวันรุ่งขึ้นถาม
ด้วยความเป็นห่วงเป็นใยระคนตกใจเมื่อเห็นผมนั่งรอพร้อมมีมาสก์
ปิดปากปิดจมูกมิดชิด
     “อ๋อ พอดีไม่ค่อยสบายน่ะครับ” ผมส่งเสียงอู้อี้ตอบยิ้มๆ มันน่าอาย
และโคตรจะไม่เท่เลยถ้าจะบอกว่าเป็นโรคที่ไม่ค่อยมีใครเค้าเป็นกันอย่างคางทูม
     “เป็นหวัดเหรอคะ ต้องมีหน้ากากปิดปากเหมือนคนญี่ปุ่นเลย”
     “ผมเป็น…คางทูมน่ะครับ” ต้องบอกจนได้
     “เอ๊…คางทูมนี่เด็กๆ เค้าเป็นกันไม่ใช่เหรอครับ” ลูกค้าอีกคนตั้งข้อสังเกต
     “อ๋อ ผมคงยังเด็กอยู่น่ะครับ ฮ่าฮ่า” ผมโจ๊กกลับไป ภาวนาในใจขออย่าให้
ไข้ขึ้นตอนนี้
     งานในวันนั้นผ่านไปอย่างราบรื่น วันรุ่งขึ้นผมลากตัวเองมาทำงาน
ด้วยความทรมานก่อนที่ตอนสายๆ จะไปหาหมออีกครั้งที่โรงพยาบาลพญาไท 3
หมอตรวจดูอาการแล้วแอดมิทตอนนั้นทันที
     อาการคางทูมของผมในตอนนั้นยังอยู่ในขั้นรุนแรง พยาบาลแทงเข็มทะลุผิวหนัง
เอาเลือดไปตรวจเป็นว่าเล่น วัดไข้วัดความดันกันทั้งวันตลอดระยะเวลาสามวันสองคืน
ที่ผมได้ใช้ชีวิตกินนอนอยู่ที่นี่
     ผลตรวจเลือดของทั้งสองโรงพยาบาลออกมาสอดคล้องกัน พบเชื้อคางทูม
อยู่ในระดับที่หมอบอกว่า “มหาศาล”
     ในช่วงที่ยังไม่มีใครมาเยี่ยม ยังไม่มีหนังสืออ่าน ยังไปไหนไม่ได้ และไม่มีอะไรทำ
นอกจากนอนอยู่บนเตียงนี่เองที่ผมได้ดูมหากาพย์ “Tom & Jerry” จากจอทีวี
ในห้องพิเศษของโรงพยาบาลพญาไท 3
     ที่ต้องเรียกว่ามหากาพย์เพราะช่องนี้เป็นช่องของโรงพยาบาล และช่วงที่ผม
เปิดไปเจอเป็นช่วงที่การ์ตูนอมตะอย่าง Tom & Jerry ฉายยาวต่อเนื่องกันเป็น
สิบๆ ตอน
     ผมชอบการ์ตูน Tom & Jerry มาตั้งแต่เด็ก ด้วยความที่มันเป็นการ์ตูนแนว
ตลกเจ็บตัวที่โคตรฮาสะใจ มุขเจ็บตัวบางมุขก็เถื่อนๆ ถ่อยๆ แต่ก็ถือว่าด้อยพิษภัย
ถ้าจะให้เด็กๆ ดู บางอารมณ์ก็ดูคล้ายๆ การ์ตูนวิ่งไล่จับอีกเรื่องอย่าง
เจ้านก Road Runner กับหมาป่า Coyote ที่เป็นมุขไล่จับเหมือนกันและก็จบลงด้วย
ตลกเจ็บตัวของฝ่ายไล่กวดเหมือนกัน
     แต่สิ่งที่ต่างกันระหว่างการ์ตูนไล่จับสองเรื่องนี้คือในขณะที่เจ้านก Road Runner
วิ่งหนีพร้อมๆ กับทำเสียง “มี๊ด มี๊ด” มีน้อยครั้งมากที่มันจะทำอะไรเพื่อแก้เผ็ด
หรือแกล้งเจ้าหมาป่า Coyote ให้เจ็บตัวโดยเจตนา ส่วนใหญ่แล้วสาเหตุการเจ็บตัว
ของเจ้า Coyote มักจะเกิดจากความบ้องตื้นของมันเองแทบทุกที
     ส่วนเจ้า Jerry แม้จะเป็นหนูที่ดูน่ารัก แต่มันก็ไม่ใช่หนูที่ Clean และซื่อใสไร้เดียงสา
อยู่ตลอดเวลา มันจะมีลูกกวนตีน ลูกแสบ และมีการคิดเอาคืนเจ้า Tom อยู่บ่อยๆ
หลายครั้งที่ Tom ไม่ได้เจ็บตัวเพราะความโง่ของตัวเองแต่เพียงเพราะในตอนนั้น
Jerry มันดันฉลาดกว่า
     เพราะโรคของเด็กๆ อย่างคางทูมส่งผมให้มานอนแอ้งแม้งตัวแบนหน้าบวม
อยู่บนเตียงโรงพยาบาล ทำให้ผมได้ดู Tom & Jerry และมองเห็นบทเรียนดีๆ
ที่อาจจะไม่ได้เห็นหากไม่ได้เป็น “คนป่วย”
     แม้ Tom & Jerry แทบทุกตอนจะเป็นการวิ่งไล่จับ แกล้งกลับ เอาคืน ระหว่างแมวกับหนู
แต่ก็มีหลายตอนเช่นกันที่ผมพบว่าลึกๆ จริงๆ แล้ว Tom กับ Jerry เป็นคู่กัดที่
รักและผูกพันกันในระดับหนึ่งทีเดียว
     บางครั้งเมื่อไม่มี Tom มาคอยป่วนหรือป้วนเปี้ยนอยู่ใกล้ๆ ให้คอยระแวง
เจ้าหนู Jerry มันกลับรู้สึกเคว้งคว้าง อ้างว้าง และเหงาๆ จนมันต้องไปตามหา
และพาเจ้า Tom กลับมาให้วิ่งไล่จับมันเหมือนเดิม
     บางครั้งที่ทอมตกอยู่ในที่นั่งลำบากไม่ว่าสาเหตุจะมาจากคนหรือหมาบูลด็อกคู่ปรับ
ถ้าไม่ใช่เพราะ Jerry จงใจให้เป็นอย่างนั้น เจ้าหนูตัวเล็กๆ นี่แหละที่คอยช่วย Tom
ออกมาจากสถานการณ์คับขันเพื่อที่มันจะได้มาวิ่งไล่จับกันเหมือนเดิมในท้ายที่สุด
     ภาพความช่วยเหลือเอื้ออาทรกันแบบนี้ยังมีให้ได้เห็นบ่อยๆ และหลายรูปแบบ
ในการ์ตูนชุด Tom & Jerry
     ไม่ว่าทางผู้สร้างจะตั้งใจหรือไม่ แต่ Tom & Jerry สอนผมว่าแม้มันจะแกล้งกัน
กวดกัน กัดกัน ทะเลาะกัน หาทางเอาชนะกัน แต่ท้ายที่สุดแล้วมันก็รักกันเพราะ
มันเป็นสัตว์เหมือนกัน อาศัยอยู่ในโลกใบเดียวกัน
     แม้ฝ่ายหนึ่งเป็นแมว อีกฝ่ายเป็นหนู (ที่ในโลกของการ์ตูนต้องเป็นคู่ปรับกัน
ตลอดชาติ) แต่เมื่อตัวใดตัวหนึ่งหายไป อีกตัวหนึ่งก็ไม่สามารถอยู่ได้อย่างเป็นสุขนัก
     คนเราในโลกร้อนๆ ใบนี้ก็แตกต่างกัน ไม่ว่าจะด้านกายภาพ ความคิด วัฒนธรรม
สังคม เอเชียไม่เหมือนแอฟริกา อเมริกาไม่เหมือนอาหรับ การแกล้งกัน กวดกัน
กัดกัน ทะเลาะกัน หาทางเอาชนะกัน จึงเป็นข่าวให้เราดูอยู่ทุกวัน ไม่ต่างจาก
Tom & Jerry ที่แม่งก็ทะเลาะกันทุกตอน
     ไม่ต้องดูถึงระดับโลกก็ได้ ในบ้านเราตอนนี้ก็ยังแบ่งพวกแบ่งพรรคแยกฝักแยกฝ่าย
ทะเลาะยืดเยื้อกันอยู่ทุกวัน
     ถึง Tom & Jerry จะทะเลาะกัน เอาปืนยิงกัน ปาระเบิดใส่หน้า กระแทกฝาตู้เย็นหนีบคอ
เอาตู้ปลาครอบกบาล เตะลงไปปั่นในเครื่องซักผ้า แมวกับหนูทั้งคู่ก็ไม่เคยตาย
สะบัดหัวสะบัดตัวดุ๊กดิ๊กสองทีก็กลับมาน่ารักเหมือนเดิม
     แต่คนเราถ้าทะเลาะกัน เอาปืนยิงกัน ปาระเบิดหรือ…เอ้อ…ยิงแก๊สน้ำตาใส่กัน
(แล้วบอกว่าอีกฝ่ายทำระเบิดลั่นเองซะงั้น) ถล่มขีปนาวุธใส่กัน ขับเครื่องบินชนกัน
วางระเบิดใส่กัน ระเบิดฆ่าตัวตายใส่กัน ไม่ตายก็พิการ นิ้วขาดขาขาด
     ผมไม่แน่ใจว่าลึกๆ แล้วมนุษย์เรารักและผูกพันแม้จะทะเลาะกันเหมือน
Tom & Jerry หรือเปล่า
     บางทีกว่ามนุษย์จะสำนึกว่าลึกๆ แล้วเรารักกัน เราเป็นสัตว์ประเภทเดียวกัน
อาศัยอยู่ในโลกใบเดียวกัน และเราอาจจะรู้สึกเคว้งคว้าง อ้างว้าง และเหงาๆ หาก
ใครฝั่งใดฝั่งหนึ่งหายไป…
     ถึงเวลานั้น…มันก็ไม่ทันเสียแล้ว
     …
     โรคเด็กๆ อย่างคางทูมยังช่วยให้ผมเรียนรู้ความรู้สึกบางอย่างมากขึ้น
     ในช่วงเวลาที่อาการป่วยไข้ไม่สบายยังอยู่ในขั้นรุนแรง ปวดปลาบหนาวสั่น
ทุรนทุรายจนไม่คิดว่าจะรอด ผมได้รับการดูแล ความช่วยเหลือ ความเป็นกังวล
เป็นห่วงเป็นใยมากมายจากหลายๆ คน ทั้งที่รู้จักใกล้ชิดสนิทสนมไปถึงกระทั่ง
คนป่วยด้วยกันที่ชีวิตนี้ไม่เคยเห็นหน้ากันมาก่อน
     อาจจะฟังดูน้ำเน่านิดๆ ดัดจริตหน่อยๆ แต่เป็นความจริงที่ผมได้รู้
ในตอนที่ร่างกายสะท้านเทิ้มสั่นด้วยพิษไข้คางทูมนี่เองว่า…
     หนาวกาย…ทุเลาได้…ถ้าใจอุ่น

sick-pic